การแก้ไขมาก ใน ป.วิ.อ.มาตรา ๒๑๘

๑.      กรณีที่จะถือเป็นการแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง(ฎีกาที่ ๕๔๕๕/๒๕๕๓); การที่จะถือว่าเป็นการแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษนั้นมีความหมายถึงการเปลี่ยนบทลงโทษจากบทหนึ่งไปเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่วรรคนั้นแตกต่างกัน(ฎีกาที่ ๗๕๑๑/๒๕๔๗)

                               ฎีกาที่ ๑๓๐๓/๒๕๕๕ การแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจากบทหนึ่งเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น

                            ฎีกาที่ ๗๕๑๑/๒๕๔๗ การที่จะถือว่าเป็นการแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษนั้นมีความหมายถึงการเปลี่ยนบทลงโทษจากบทหนึ่งไปเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่วรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (เดิม), ๖๖ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นเพียงการบังคับใช้กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่ในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓ บัญญัติไว้เท่านั้น จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์แก้บทลงโทษ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้จำนวนโทษ มิได้แก้บทลงโทษจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง