การนับโทษต่อ

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๒๒ โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

               ในกรณีที่คำพิพากษากล่าวไว้เป็นอย่างอื่น โทษจำคุกตามคำพิพากษาเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดีเรื่องนั้นเข้าด้วยแล้ว ต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบกระเทือนบทบัญญัติในมาตรา ๙๑

               มาตรา ๙๑ เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้

               (๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี

               (๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี

               (๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

 

หมายเหตุ

               ฎีกาที่ ๑๘๓๑/๒๕๕๗ ป.อ. มาตรา ๒๒ วรรคแรก เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการบังคับโทษจำคุกจำเลยว่าให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ซึ่งวันมีคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๒ และ ๑๘๘ โดยคำพิพากษาไม่จำเป็นต้องถึงที่สุด เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยย่อมต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษานั้น แม้ต่อมาภายหลังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะแก้โทษจำคุกก็ไม่มีผลต่อวันเริ่มโทษจำคุกแต่อย่างใด คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังแล้ว โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต และนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาอื่น ย่อมมีความหมายว่าคำพิพากษาได้กล่าวถึงเวลาเริ่มบังคับโทษจำคุกไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การเริ่มนับโทษจำคุกจำเลยจึงต้องเริ่มนับเมื่อจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีอาญาอื่นครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้โทษของจำเลยเหลือเพียง ๓๖ ปี ๘ เดือน แต่ก็ยังคงให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่มีผลต่อวันเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลย

               หมายเหตุ ตามมาตรา ๒๒ คำว่า นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หมายถึง ศาลชั้นต้น

 

คดีที่ขอให้นับโทษต่อยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือมีคำพิพากษาในภายหลัง นับโทษต่อไม่ได้

               ฎีกาที่ ๑๙๖๘/๒๕๖๒ การนับโทษต่อจากสำนวนคดีเรื่องใดจะต้องปรากฏว่าคดีเรื่องนั้นศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไว้ก่อนแล้ว คดีเรื่องหลังจึงจะนับโทษต่อจากกำหนดโทษในสำนวนคดีเรื่องก่อนได้ แต่คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ ภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๖ มีคำพิพากษาคดีนี้ กรณีจึงไม่อาจนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ จะต้องสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเสียก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาให้แก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเสียใหม่เป็นไม่นับโทษต่อจึงชอบแล้ว และไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของการบังคับคดีที่ศาลจะต้องออกหมายบังคับคดีถึงที่สุดให้ถูกต้อง

               หมายเหตุ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๖, คดีที่ขอให้นับโทษต่อมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗

ศาลชั้นต้นยกคำขอให้นับโทษต่อเนื่องจากคดีที่ขอให้นับโทษต่อยังไม่ได้มีคำพิพากษา แต่ถ้าโจทก์อุทธรณ์ขอให้นับโทษต่อแล้วปรากฏว่าคดีที่ขอให้นับโทษต่อมีคำพิพากษาจำคุกแล้ว ศาลสูงให้นับโทษต่อได้ 

               ฎีกาที่ ๒๑๖๕/๒๕๒๘ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำขอให้นับโทษต่อ เพราะคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลยังไม่ได้พิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา และปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้วจริง ดังนี้ ศาลฎีกาพิพากษาให้นับโทษต่อได้

 

การฟ้องหลายคดี ไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙๑

               ฎีกาที่ ๔๖๕๖/๒๕๔๐  บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ใช้ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาอันเดียวกัน ในคำฟ้องคดีเดียวที่รวมเอาความผิดหลายกระทงไว้ด้วยกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๐ หรือคำฟ้องหลายคดีที่พิจารณาพิพากษารวมกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๕ ซึ่งปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันก็ให้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปโดยมีข้อยกเว้นว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ วรรคท้าย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑มิได้บัญญัติห้ามว่าการนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากคดีอื่นของจำเลยที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไป เมื่อนับรวมกันแล้วจะเกินกำหนดในมาตรา ๙๑ ไม่ได้ ซึ่งการขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอื่น เป็นการขอให้ศาลกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในคำพิพากษาเกี่ยวกับการเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนั้นว่าจะให้เริ่มนับแต่เมื่อใดซึ่งหากไม่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นก็จะต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒ วรรคหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าสมควรให้นับโทษต่อหรือไม่เพียงใด และมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

               คดีนี้และคดีก่อนเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำผิดทุจริตเบียดบังค่าธรรมเนียมและค่าคำขอในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินจากส่วนราชการของกรมที่ดิน หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้เสียหายก็คือกรมที่ดินรายเดียวกัน สำนวนการสอบสวนของคดีนี้และคดีก่อนก็เป็นสำนวนเดียวกัน โจทก์สามารถฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำความผิดคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นคดีเดียวกันได้ เพราะโจทก์จำเลยเป็นคนเดียวกัน และพยานก็เป็นชุดเดียวกัน แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไป และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีทุกสำนวนรวมกัน ศาลก็จะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เหตุที่ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกเพราะเกิดความผิดพลาดในการดำเนินคดี และศาลชั้นต้นไม่มีโอกาสสั่งให้คดีก่อนพิจารณาพิพากษารวมกัน ประกอบกับคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรวมเต็มตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๑ หากให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนก็จะทำให้จำเลยต้องโทษจำคุกหนักขึ้น โดยเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๑ เพียงเพราะความผิดพลาดในการดำเนินคดี จึงไม่มีเหตุสมควรให้นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อน

              

การขอให้นับโทษต่อ คดีแรกกับคดีหลังต้องไม่เกี่ยวพันกัน นับโทษต่อได้

               ฎีกาที่ ๔๖๒๐-๔๖๒๑/๒๕๔๓ คดีสำนวนแรกและสำนวนหลังมิได้เกี่ยวพันกันไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ แม้ทั้งสองคดีศาลต่างลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ก็สามารถนับโทษต่อกันได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๓)

               ฎีกาที่ ๑๔๖๕๓-๑๔๖๕๔/๒๕๕๕ โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ติดต่อกันทั้งสองสำนวน แม้เป็นคดีที่รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน และศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตทั้งสองสำนวนก็นับโทษต่อกันได้

 

คดีแรกกับคดีหลังเป็นการกระทำความผิดเดียวกันหรือเกี่ยวพันกัน นับโทษต่อไม่ได้

               ฎีกาที่ ๓๘๖๔/๒๕๔๓ คดีนี้กับคดีก่อนมีลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน จำเลยและผู้เสียหายเป็นบุคคลคนเดียวกัน โจทก์จึงอาจจะฟ้องคดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีเดียวกัน แต่ปรากฏว่าโจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีก่อนโดยศาลชั้นต้นมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมและจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนด ๒๐ ปีเต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๒) ในคดีก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจนำโทษของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ไปนับต่อกับโทษของจำเลยทั้งสองในคดีก่อนของศาลชั้นต้นได้ เพราะจะทำให้จำเลยทั้งสองต้องรับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๒) บัญญัติไว้

               ฎีกาที่ ๙๒๙/๒๕๔๘ ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเฝ้าดักจับจำเลยทั้งสองได้ขณะจำเลยทั้งสองขับรถถึงด่านเก็บเงินที่เกิดเหตุ และนำไปตรวจค้นพบเฮโรอีน ๑๔ ถุง ต่อมาจึงนำจำเลยที่ ๑ ไปตรวจค้นที่บ้านพักและพบเฮโรอีนอีกส่วนหนึ่ง แต่มีการสอบสวนโดยแยกสำนวนจากกันเนื่องจากเป็นความผิดคนละกรรมและที่เกิดเหตุอยู่คนละท้องที่ กรณีความผิดของจำเลยที่ ๑ ทั้งสองสำนวนจึงเกี่ยวพันที่อาจถูกฟ้องคดีเดียวกันและอาจพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ เมื่อคดีหนึ่งศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากคดีดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้

               ฎีกาที่ ๑๗๔๓/๒๕๔๘ ขณะที่จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้และคดีก่อนทั้งยี่สิบหกคดี จำเลยเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน บ. ซึ่งได้รับความเสียหายด้วยในทุกคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นกรรมการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และเอกสาร โดยมีเจตนาเพื่อเบียดบังเอาเงินของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน บ. ที่มอบหมายให้จำเลยนำไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน บ. ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งความผิดปรากฏเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ พนักงานสอบสวนอาจสอบสวนความผิดทุกสำนวนแล้วเสนอความเห็นและส่งสำนวนไปยังโจทก์พร้อมกันได้ ซึ่งโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ คดีนี้และคดีดังกล่าวทั้งยี่สิบหกคดีจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๖๐ วรรคหนึ่ง เมื่อคดีนี้ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษอย่างสูงเกิน ๓ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา ๙๑ (๒) รวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วจะเกินกว่า ๒๐ ปี ไม่ได้ เมื่อศาลลงโทษจำคุกจำเลยคดีทั้งยี่สิบหกคดีติดต่อกันมีกำหนด ๒๐ ปีแล้ว จึงไม่อาจนับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษคดีก่อนได้

              

ถ้าเป็นความผิดกรรมเดียวตามมาตรา ๙๐ ไม่ต้องพิจารณาตามมาตรา ๙๑ อีก

               ฎีกาที่ ๔๔๐๙/๒๕๔๓ การที่จำเลยที่ ๑ บุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหาย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ ๑ มีความมุ่งหมายที่จะเข้าไปตัดโค่นต้นยางพาราซึ่งอยู่ในที่ดินดังกล่าวแล้วนำออกไปจากที่ดินโดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกต้นยางพาราไปจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวต่อเนื่องกันตลอดมาไม่ขาดตอนอันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามมาตรา ๙๑ ดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่

 

แม้คดีที่ขอให้นับโทษต่อยังไม่ถึงที่สุด(คดีแรก) แต่ศาลใดศาลหนึ่ง(ศาลชั้นต้นหรือศาลสูง)ได้พิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว ก็นับโทษต่อได้

               ฎีกาที่ ๑๔๐๔/๒๕๔๗ เมื่อคดีอาญาอีกคดีหนึ่งของศาลจังหวัดชลบุรีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ หากศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ยังมิได้มีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงโดยพิพากษาแก้หรือกลับผลของคำพิพากษาศาลจังหวัดชลบุรีแล้ว จำเลยยังคงต้องถูกบังคับตามโทษในคดีอาญาดังกล่าว ศาลชั้นต้นชอบที่จะนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีนั้นต่อไปจนกว่าผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลนั้นจะเปลี่ยนแปลงไป

               ฎีกาที่ ๑๐๘๙/๒๕๕๐ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๙๖๔/๒๕๔๖ ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุก ๔ ปี ๖ เดือน จำเลยยังต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาอยู่ แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุดและอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษจำคุกต่อไม่ได้

               ฎีกาที่ ๕๑๗๐/๒๕๕๒ จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ ๑ ในคดีอาญาของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุก ๓ ปี จำเลยยังต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาอยู่ แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุดและอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ศาลก็สามารถนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้

 

คดีที่ขอให้นับโทษต่อจำเลยได้พ้นโทษไปแล้วถือว่าไม่มีโทษจำคุก นับโทษต่อไม่ได้

               ฎีกาที่ ๓๓๓๒/๒๕๓๑ คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย ๓ ปี ๔ เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำคุกจำเลย ๘ เดือนจำเลยถูกคุมขังพอแก่โทษศาลชั้นต้นให้ปล่อยตัวไป แม้โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่ไม่ปรากฏว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้วจึงยังไม่มีโทษจำคุกที่จะนับต่อให้ ศาลจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้

 

คดีที่ขอให้นับโทษต่อ ศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิต นับโทษต่อไม่ได้

               ฎีกาที่ ๑๕๑๘/๒๕๖๕ คดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตจำเลย จึงไม่มีโทษจำคุกที่จะให้นับต่อกันได้ตาม ป.อ. มาตรา ๒๒ วรรคหนึ่ง และโดยสภาพของโทษประหารชีวิตกับโทษจำคุกนั้นก็ไม่อาจนับโทษต่อกันได้

 

หลักเกณฑ์ของมาตรา ๙๑ ประการหนึ่งคือ ต้องเป็นลักษณะของความผิดที่เกี่ยวพันกันหรือคดีที่เกี่ยวพันกัน 

               ฎีกาที่ ๒๙๔๑/๒๕๔๔ คดีที่จะอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๑) ซึ่งมีการจำกัดในการลงโทษในความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นั้น หมายถึงคดีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมแล้วโจทก์ฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือคดีที่เกี่ยวพันกัน สามารถรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ เนื่องจากลักษณะของความผิดที่กระทำนั้นเกี่ยวพันกัน แต่โจทก์แยกฟ้องมาหลายคดี

               จำเลยที่ ๑ ออกเช็คชำระหนี้ค่าซื้อพลอยให้แก่โจทก์ร่วมหลายครั้งและยักยอกทรัพย์โจทก์ร่วมเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดี จึงอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๑) ในเรื่องการจำกัดระยะเวลาในการลงโทษจำคุก

               ฎีกาที่ ๓๑๗๘/๒๕๖๕ ป.อ. มาตรา ๙๑ ให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปและกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกินยี่สิบปีนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๖๐ วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีและคดีแต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา ๙๑ (๒) 

               คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๐๖๖/๒๕๖๒ นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาฉบับลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ ของโจทก์ว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์ที่ ๒ คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อหาความผิดที่ฟ้องจะเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเป็นคนละรายกันกับคดีนี้และพยานหลักฐานในคดีเป็นคนละชุดกัน จึงไม่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา ๒๒ แม้มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินยี่สิบปี ก็พิพากษาให้บังคับเช่นนั้นได้ กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ (๒) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๐๖๖/๒๕๖๒ ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ

               คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๒๔๒/๒๕๖๒ นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ ๑ ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แม้วันเวลากระทำความผิดจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ ๑ ให้เป็นผู้จัดทำบัญชีและนําเงินไปเสียภาษีแทน กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินที่มอบให้นําไปเสียภาษีไป และจำเลยทั้งสองไม่คืนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำบัญชีและเสียภาษีแก่โจทก์ที่ ๑ เช่นเดียวกับคดีนี้ ดังนั้น เมื่อคดีมีคู่ความเดียวกัน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน โจทก์ที่ ๑ อาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์ที่ ๑ แยกฟ้องคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง แยกต่างหากจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๒๔๒/๒๕๖๒ ดังกล่าวโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒๐ ปี เต็มตามกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา ๙๑ (๒) แล้ว ย่อมไม่อาจนําโทษของจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ไปนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ ๑ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๒๔๒/๒๕๖๒ ของศาลชั้นต้นได้เพราะจะทำให้จำเลยที่ ๑ ต้องได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา ๙๑ (๒) บัญญัติไว้

               ฎีกาที่ ๗๐๐๕-๗๐๐๗/๒๕๕๑ การนับโทษต่อจากโทษในคดีอื่นได้ไม่เกิน ๕๐ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ (๓) นั้น ต้องเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมและถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกัน หรือในกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดี แต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันและศาลได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ซึ่งคดีที่เกี่ยวพันกันนั้นโจทก์ควรจะฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันหรือควรจะมีการรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่โจทก์กลับแยกฟ้องเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่สำหรับคดีทั้งสามสำนวนนี้จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนกัน คดีแต่ละสำนวนไม่เกี่ยวพันกันและไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ แม้จะรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันก็เป็นเพราะจำเลยเป็นบุคคลเดียวกันและพยานหลักฐานชุดเดียวกันอันเป็นการสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น ดังนั้น ศาลย่อมนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันอันทำให้จำเลยต้องโทษจำคุกทุกคดีเกิน ๕๐ ปี ได้ หาอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา ๙๑ (๓) ไม่

               ฎีกาที่ ๓๒๗๖/๒๕๔๗ ป.อ. มาตรา ๙๑ (๒) เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๓ ปี แต่ไม่เกิน ๑๐ ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกิน ๒๐ ปี นั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๖๐ หรือคดีที่เกี่ยวพันกันหรือควรจะมีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่โจทก์ได้แยกฟ้องเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน หรือเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๕ จึงจะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา ๙๑ (๒) แต่การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้กับคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นับโทษต่อทั้ง ๑๕ คดีนั้น ไม่เกี่ยวพันกันจนอาจจะฟ้องรวมกันเป็นคดีเดียวกันได้หรือจะรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา ๒๒ แล้วมีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินกว่า ๒๐ ปี ก็ย่อมพิพากษาให้บังคับเช่นนี้ได้ กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ (๒)

               ฎีกาที่ ๑๕๑๓/๒๕๓๗ การนับโทษต่อจากโทษในคดีอื่นได้ไม่เกิน ๕๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๓) นั้น ต้องเป็นกรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมและถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกัน หรือในกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดี และเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน คดีที่เกี่ยวพันกันซึ่งโจทก์ควรจะฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกัน หรือควรจะมีการรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องเป็นหลายคดี และไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่สำหรับคดีนี้และคดีอื่นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อกันนั้น แต่ละคดีมีวันเวลาสถานที่เกิดเหตุและผู้เสียหายต่างกันเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ จึงนับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองติดต่อกันเกินกว่า ๕๐ ปีได้

               ฎีกาที่ ๘๕/๒๕๓๖ ป.อ. มาตรา ๙๑(๒) เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกจำเลยในกรณีจำเลยกระทำความผิดหลายกรรม แต่ถูกฟ้องเป็นคดีเดียวหรือกรณีจำเลยถูกฟ้องหลายคดีแต่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกันซึ่งโจทก์กลับแยกฟ้องเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อโจทก์จำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แต่ปรากฏว่า ฐานความผิดตามที่ฟ้องในคดีที่สี่และพยานหลักฐานที่จะต้องนำสืบแตกต่างกับสามคดีแรก และความผิดตามที่ฟ้องในคดีที่หกนั้นเป็นความผิดที่จำเลยได้กระทำขึ้นในบริษัท ค. ซึ่งไม่ใช่บริษัทที่จำเลยได้กระทำความผิดในคดีอื่น ๆ คดีที่สี่และที่หกจึงเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้คดีจึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา ๙๑(๒)